หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ชุดเพาะเห็นสำเร็จรูป mushboom kit จากงานอดิเรกลูกชายจนต่อยอดกลายเป็นธุรกิจ

โพสต์แล้ว: พุธ 27 ก.พ. 2013 11:01 am
โดย Yamachita
[center]รูปภาพ[/center]

คงเหมือนกับคุณแม่ทั่วไป เมื่อลูกๆ โต เข้าสู่วัยทำงาน จะเริ่มมีเวลาว่าง มักหางานอดิเรกทำ ส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้นงานที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ช่วยให้จิตใจสงบ เช่นเดียวกับ คุณแม่ของเจ้าของธุรกิจชุดเพาะเห็ดสำเร็จรูป 'mushboom kit' จากงานอดิเรกที่ลูกชายต่อยอดเป็นธุรกิจ

เมื่อลูกชาย “ธญธร ธรรมาชีพเจริญ (ตุ่ย)” ต้องหางานอดิเรกให้คุณแม่ทำ โดยพื้นฐานท่านเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ บังเอิญวันหนึ่งคุณแม่ได้ดูรายการโทรทัศน์ เกี่ยวกับการเพาะเห็ดญี่ปุ่นก็สนใจ ประกอบการลูกๆ ก็ชอบรับประทานเห็ดเป็นประจำ จึงคิดอยากลองเพาะเห็ดดู โดยทั้งครอบครัวช่วยกันหาข้อมูล และหาแหล่งเรียนรู้การเพาะเห็ดเพิ่มเติม ทั้งจากเว็บไซต์ ตระเวนดูฟาร์มเพาะเห็ดของเพื่อน ทำให้คุณตุ่ย รู้ว่าการเพาะเห็ดขายนั้นรายได้ไม่น้อยเลย

“ช่วงที่ผมเริ่มศึกษาวิธีการเพาะเห็ดอย่างจริงจัง ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เพื่อนผมชวนให้เพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นขาย ที่เขาใหญ่ โดยเขาบอกว่า ทำง่าย แถมราคาขายก็ไม่ใช่น้อย ขณะที่ความต้องการในตลาดยังมีอยู่มาก ซึ่งผมก็สนใจ เดินทางไปดูฟาร์มของเพื่อน หลังจากนั้นก็ศึกษาด้วยตัวเองเรื่อยมา และให้คุณแม่ไปอบรมการเพาะเห็ดตามแหล่งต่างๆ ซึ่งคุณแม่ชอบมาก และหลงรักการเพาะเห็ด”

[center]รูปภาพ[/center]

ต่อมาขณะที่ ธญธร คิดวางแผนสร้างโรงเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น กลับพบว่า เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน จะออกดอกเร็วกว่า สามารถเก็บเห็ดขายได้ทุกวันประมาณ 30-40 กิโลกรัม จึงคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ดีหากปรับเปลี่ยนมาปลูกเห็ดเหล่านี้ พร้อมศึกษากรรมวิธีการแปรรูปเห็ดควบคู่กันไป จนกระทั่งบังเอิญไปเห็ดเห็ดที่เพาะอยู่ในกล่อง โดยใส่ก้อนเห็ดเข้าไปในกล่องกระดาษ อาศัยวิธีการรดน้ำเช้า-เย็น ในต่างประเทศ ก็สนใจ และพบว่าราคาสูงมาก ราคากล่องละ 1,500 บาทเลยทีเดียว

จากจุดนั้นเอง กลายเป็นไอเดียที่คุณตุ่ย คิดนำมาต่อยอด ค้นหาวิธีที่ง่ายขึ้น ลงทุนไม่สูงมากนัก เพื่อสามารถทำเป็นธุรกิจได้ในอนาคต จึงรวบรวมกลุ่มเพื่อนอีก 2 คน คือ “ศศิพรรณ ศรีเอี่ยม (อิ่ง) และ สุธี กฤตังกูร (ที)” ศึกษาการเพาะเห็ดกล่องอย่างจริงจัง สุดท้ายกลายเป็นที่มาธุรกิจ “Mushboom Kit” ชุดเพาะเห็ดสำเร็จรูป

“พวกเรารู้สึกว่าการได้รับประทานเห็ดสด ที่เก็บมาใหม่ๆ และนำมาปรุงเป็นอาหารนั้น จะได้รสชาติที่แปลกไปกว่าเดิม ช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น โดยไม่ต้องปรุงแต่งรสชาติมากนัก จึงคิดว่าหากผู้คนสามารถเพาะเห็ดเองได้ไว้รับประทานที่บ้าน น่าจะเป็นเรื่องดี จึงนำไอเดียเห็ดกล่องมาต่อยอด พร้อมแก้ปัญหาเห็ดกล่องของต่างประเทศ ที่ใช้วิธีผ่ากลางกล่อง (แนวขวาง) เพื่อรดน้ำ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เห็ดมีเชื้อราได้ง่าย เพราะรดน้ำไปโดนเชื้อเห็ด เราจึงปรับเปลี่ยนวิธีด้วยการเจาะตรงปลายกล่อง ให้รดน้ำ พร้อมออกแบบกล่องกระดาษให้สวยงามเหมาะแก่การนำไปเป็นของขวัญ”

[center]รูปภาพ[/center]

การที่กล่องกระดาษต้องโดนน้ำอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงต้องเก็บไว้ในที่ชื้น อย่าง ในห้องน้ำ (แยกพื้นที่เปียก-แห้ง) เพื่อให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นคุณภาพของกล่องกระดาษจะต้องเกรดเอ มีความแข็งแรงทนทาน เก็บความชื้นได้ดี และไม่ให้แสงแดดเล็ดลอดเข้ามาได้ ส่งผลให้ราคาขายเริ่มต้นที่กล่องละ 99 บาท ซึ่งวิธีดังกล่าว จะช่วยให้เห็ดออกเร็วขึ้น และรับประกันเห็ดออกทุกดอก หากดูแลตามวิธีที่อธิบายไว้

สำหรับขั้นตอนการปลูกเห็ดและเก็บเห็ด Mushboom Kit มีเพียง 9 ขั้นตอนที่ใครก็สามารถได้ ได้แก่ 1."ฉีก" ฉีกตามรอยปรุด้านหน้า และด้านหลังชุดปลูก 2."เปิด" เปิดฝาพลาสติกที่ปิดหัวเชื้อออก 3."แคะ" ดึงสำลีที่ปิดจุกออก และใช้ช้อนแคะข้าวฟ่างออกเบาๆ จนหมด 4."ฉีด" ฉีดน้ำด้วย foggy เข้าช่องด้านหลังวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น 5."หลบ" วางกล่องชุดปลูกหลบจากกแสงแดดโดยตรงให้พอมีแสงเล็กน้อย 6."รอ" หมั่นฉีดน้ำทุกวัน และรอประมาณ 10 วัน เห็ดก็จะออกมา 7."เก็บ" เมื่อเห็ดโตเต็มที่ใช้มือดึงที่โคนเห็ดให้หลุดออกจากชุดปลูก 8."เขี่ย" ใช้ช้อนเขี่ยรากที่เหลือออกจนหมด ระวังอย่าให้ลึกจนเกินไป และ 9."ฉีด" ฉีดน้ำดูแลต่อไป หากดูแลได้ดีเห็ดอาจจะออกมาได้ถึง 3 รอบ

ล่าสุดทีมงาน Mushboom Kit นำร่องกล่องปลูกเห็ดสำเร็จรูป 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เห็ดภูฏาน , ฮังการี และนางนวล (เห็ดสีชมพู) ซึ่งเห็ดทั้ง 3 สายพันธุ์ จะโตง่าย ให้ผลผลิตเร็ว สามารถเจริญเติบโตได้ในอุญหภูมิห้อง ขณะที่เห็ดชนิดอื่น อย่าง ออรินจิ จะต้องอยู่ในอากาศหนาวเย็น ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อ และโคนญี่ปุ่น จะออกดอกเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ทันใจผู้ปลูก และหมดสนุกในการปลูกเห็ดได้

อนาคต Mushboom Kit เตรียมขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำไปจำหน่ายต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาระบบ แต่ไม่คิดวางจำหน่ายตามห้างสรพสินค้า เนื่องจากการเก็บรักษาค่อนข้างยาก หากอยู่ในสภาวะไม่เหมาะสมเห็ดอาจไม่ออกดอก จึงเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการออกบูธ ตามงานต่างๆ พร้อมอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจสินค้า นอกจากนี้ตลาดต่างประเทศก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน แต่ติดปัญหาในเรื่องวันหมดอายุค่อนข้างสั้น ซึ่งโจทย์นี้ทีมงานต้องนำไปขบคิดต่อไป


ที่มา : manager.co.th