
กระตุ้นรัฐเร่งเสริมอุตสาหกรรมชายแดนใต้ ขอเปิดซูเปอร์มาร์เกตฮาลาล เผยต่างชาติอยากลงทุนแต่ขยาดความ
มั่นคง
นายสืบศักดิ์ กลิ่นสอน ผอ.สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เวลานี้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลมีความตื่นตัวกับการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 (เออีซี) แต่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการในพื้นที่ขาดความรู้และโอกาสการแข่งขัน ขาดปัจจัยส่งเสริมการลงทุนและการผลิตจึงต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงความปลอดภัยในพื้นที่
“มีนักลงทุนทั้งจากต่างประเทศและต่างภูมิภาคของไทยสนใจการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นจำนวนมาก เพราะจุดแข็งของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นที่รู้จักของโลกมุสลิม ในฐานะเมืองท่าการค้าของแหลมมลายู มีระบบคมนาคมเป็นจุดเชื่อมโยงด้านวัตถุดิบจากภูมิภาคอื่นทั้งของไทยและต่างประเทศที่สะดวก ประเทศไทยมีเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและอาหารเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกทั้งฝีมือและรสนิยม แต่เมื่อเห็นบรรยากาศความไม่ปลอดภัยก็ไม่กล้า ถ้าทางการควบคุมรักษาพื้นที่ได้ เช่นเดียวกับการสร้างทางบางสายเคยทำไม่ได้ เมื่อทหารเข้าควบคุม ก็ทำต่อได้และปลอดภัยระดับหนึ่ง”
ผอ.สถาบันฮาลาลกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการท้องถิ่นมุสลิมในรูปวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย มีสินค้ามากมาย ที่ทำการค้าติดต่อกันเองผ่านชายแดน แต่ขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ รัฐควรส่งเสริม เช่นให้มีซูเปอร์มาร์เกตฮาลาล เพื่อให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าซื้อหาได้ เพราะปัจจุบันผู้สนใจที่ไม่เคยติดต่อกับผู้ผลิต ก็ไม่ทราบจะซื้อที่ใดฮาลาล คือสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุญาตให้รับประทานหรือใช้สอยได้
นายสืบศักดิ์กล่าวอีกว่า ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เป็นมุสลิมถึง 50% หรือกว่า 300 ล้านคน นอกจากนี้สินค้าและบริการฮาลาลยังสร้างโอกาสไปถึงตลาดในโลกมุสลิม ที่มีมากกว่า 1,800 ล้านคน ดังนั้น รัฐควรช่วยในระบบการรับรองมาตรฐานลักษณะเดียวกับการขอการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) และระบบประกันคุณภาพการปฏิบัติ (จีเอ็มพี) ทั้งวิธีทำงาน ระบบระเบียบ และการจ่ายค่าธรรมเนียมการขอรับรอง โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณการทำงานของบุคลากรและองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานฮาลาล ทั้งอาหาร
ฮาลาล ท่องเที่ยวรูปแบบฮาลาล ซึ่งจะประกอบด้วย โรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจอาหารฮาลาลทั้งควรส่งเสริมผู้ผลิตอาหารและสินค้า ฮาลาล ให้เกิดการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต ระบบคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต
ระบบโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้าฮาลาล รวมทั้งแหล่งจำหน่ายสินค้าฮาลาล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ส่วนกลางของประเทศ. ฮาลาจีน-ไทย
จันทร์รอน ศรีนุ่น ผู้ช่วยนักวิจัยด้านอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกลางจีนกำหนดให้เขตปกครองหนิงเซี่ยเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิมและเป็นฐานการผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลที่ใหญ่ส่งออกไปทั่วโลก มีการพัฒนาเพื่อยกระดับอย่างต่อเนื่อง จนมีวิสาหกิจแปรรูปอาหารฮาลาลรวมทั้งสิ้นกว่า 655 แห่ง เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 124 แห่ง มีมูลค่าการผลิตรวม 10,300 ล้านหยวน
แต่เทคโนโลยีการตรวจสอบอาหารฮาลาลรวมถึงความน่าเชื่อถือในความปลอดภัยของฮาลาลในจีนยังไม่เป็นที่ไว้วางใจทั้งจากในและนอกประเทศ รัฐบาลจีนจึงส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมและประเทศที่มีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์อาหารที่ก้าวหน้า เช่น มาเลเซีย ในการตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองฮาลาล ขณะ
ที่ประเทศไทยมีหน่วยตรวจสอบฮาลาลหลายแห่ง ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศมุสลิม จึงควรใช้ศักยภาพที่มี ร่วมมือกับประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารฮาลาล เช่นประเทศจีน เพื่อประโยชน์ทางด้านการค้า การลงทุนและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของโลก
ที่มา : dailynews.co.th