[center]
ปัจจุบันชาวบ้านหนองสูง ถือเป็นต้นกำเนิดของการผลิตผ้าหมักโคลน ซึ่งมีการผลิตอยู่หลายชุมชน และหนึ่งในนั้น เป็นผู้ผลิตจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทอผ้าดั้งเดิม หมู่ 2 ตำบลหนองสูงเหนือ โดยมี “นางนรินทิพย์ สิงหะตา” ประธานกลุ่ม ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าไหม หมักโคลน โดยให้กลมกลืนกับรูปแบบการผลิตดั้งเดิม ของชาวภูไท เมืองหนองสูง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “แก่นเข - เพกา”
นางนรินทิพย์ เล่าถึงที่มาของผ้าหมักโคลน ว่า สมัยก่อนชาวบ้านไปหาปลาในหนองน้ำ แล้วใช้แหเพื่อดักจับปลา แต่แหถักใหม่มีสีขาว ทำให้ปลาว่ายหนีไปหมด ชาวบ้านจึงนำแหไปแช่ในโคลนเพื่อให้แหมีสีดำคล้ำ จึงได้ลองนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้กับการทำผ้าทอ โดยนำผ้าไปหมักในโคลน เช่นเดียวกับแห และนำไปย้อมต่อด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งพบว่าผ้าที่ผ่านการหมักด้วยโคลน จะได้สีสันที่แปลกไปจากผ้าที่ไม่ได้หมักโคลน ซึ่งเมื่อนำไปย้อมสีก็จะได้ผ้าที่มีสีสดมากขึ้น เพราะโคลนช่วยจับสี ทำให้สีเข้มขึ้น และสีติดทนนาน
[center]
สำหรับโคลนที่ใช้ในการหมักนี้ จะใช้โคลนที่หนองน้ำ ที่บ้านหนองสูง ซึ่งเป็นดินโคลนที่มีอายุประมาณ 300-400 ปี โดยโคลนในท้องถิ่นอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ควรใช้โคลนดินเหนียว และเนื้อโคลนต้องละเอียด ไม่มีเม็ดดินเม็ดทรายปะปน
ส่วนขั้นตอนการทำผ้าหมักโคลนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่มีหลายขั้นตอน ต้องใช้ความอดทนในการทำ เริ่มจากนำโคลนขึ้นมากรองด้วยตะแกรง เพื่อคัดกรองเอาพวกเม็ดกรวดเม็ดดินออกให้เหลือแต่เนื้อโคลนล้วนๆ แล้วนำไปผสมน้ำและเกลือตามความเหมาะสม คนให้เข้ากัน นำเส้นใยผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมลงไปแช่ในโคลนที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาในการหมักประมาณ 3-6 ชั่วโมง ซึ่งสีของเส้นใยจะอ่อนหรือเข้ม ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก เมื่อหมักได้เวลาที่ต้องการ ก็นำขึ้นมาบิด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง พอเส้นใยแห้งก็นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำกลับไปตากแดดให้แห้งอีกครั้ง จากนั้น จึงนำไปทำการย้อมสีตามที่ต้องการ
โดยผ้าที่นำมาใช้หมักโคลน จะต้องเป็นผ้าทอเส้นใยธรรมชาติ และย้อมสีธรรมชาติ สีที่ได้มาจากการสกัด โดยใช้เปลือกไม้ไปแช่น้ำให้เปลือกไม้คลายสีออกมา แล้วนำไปต้มสกัดเอาน้ำสี จากนั้นก็ใส่เกลือ ทำการคนให้เข้ากันก็จะได้น้ำสีย้อม โดยผ้าหมักโคลน ที่ทางกลุ่มทำออกจำหน่าย อยู่ในรูปของผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ จุดเด่นของผ้าหมักโคลน คือ เนื้อผ้าแห้งเร็วและเบาสบาย บวกกับความเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จุดนี้เอง ทำให้เป็นจุดสนใจของลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก ในอดีตรูปแบบของผ้าหมักโคลน จะทำสำหรับเป็นผ้าห่อเด็ก เพราะคุณสมบัติแห้งเร็ว ปัจจุบันหันไปใช้ผ้าขนหนู เพราะต้นทุนผ้าทอมือแพง ซึ่งมีแผนที่จะนำรูปแบบของผ้าห่อเด็กกลับมาทำอีกครั้ง ถ้าลูกค้าต้องการ
[center]
นางนรินทิพย์ เล่าถึงแผนการตลาดของผ้าหมักโคลนว่า เดิมทางกลุ่มจะทำใช้กันเองในหมู่บ้าน แต่ต่อมา ผ้าหมักโคลนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากได้มีการนำผ้าเข้ามาขายในเมือง และได้คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป ประกอบกับสื่อต่างๆ เข้ามาสัมภาษณ์ ทำให้ผ้าหมักโคลนเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ ให้ความสนใจค่อนข้างมาก มีผู้จัดจำหน่ายผ้าแบรนด์ดัง ในต่างประเทศ มาว่าจ้างให้ทางกลุ่มผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น สินค้าจากธรรมชาติแบรนด์ away จากประเทศออสเตรเลีย แบรนด์ Alex ประเทศเยอรมัน และแบรนด์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Saphan นอกจากนี้ มีการผลิตป้อนให้กับ ผู้จัดจำหน่ายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นร้านของคุณเผ่าทอง ทองเจือ และตอนนี้อยู่ระหว่างการทำผ้าตัวอย่าง ส่งไปให้ผู้จัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ถ้าผ่านก็จะสั่งซื้อเข้ามาเช่นกัน
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าดั้งเดิม บ้านหนองสูง เรา มีสมาชิกจำนวน 32 คน ซึ่งแบ่งงานกันทำตามความถนัด ซึ่งทุกคนจะมีรายได้จากการผลิตผ้าหมักโคลนเดือนละ 8,000 บาท ถึง 12,000 บาท แล้วแต่ออร์เดอร์ที่เข้ามาในแต่ละเดือน และกรณีที่มีงานเข้ามามาก ทางเราก็จะแจกจ่ายงานให้กับสมาชิกในเครือข่าย ที่เราไปเป็นวิทยากรสอน ซึ่งลูกค้าสั่งลวดลายตามแบบที่เราออกแบบเป็นหลัก ซึ่งทางกลุ่มจะออกแบบลายดั้งเดิมเป็นหลัก จะเพิ่มลายใหม่บ้าง แต่ก็จะแทรกไว้ในลวดลายดั้งเดิม ส่วนสีจะเลือกสีตามฤดูกาล ของพันธุ์ไม้ที่ออกมากในช่วงนั้น ๆ ปัจจุบันลูกค้าทั้ง 4 แบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นลูกค้าประจำมีการสั่งผ้าอย่างต่อเนื่อง”
ที่มา : manager.co.th