[center]
สำหรับเจ้าของผลงานไดโนเสาร์ชักสาย ได้ใช้เวลาในการฝึกหัดทำงานศิลปะจากเศษไม้ จนได้ออกมาเป็นของเล่นไม้ แบบไทย ได้อย่างน่าสนใจ และถือได้ว่า เป็นงานฝีมือของฝากบนเกาะเกร็ด เพียงไม่กี่ชิ้น ที่ผู้ขายทำขึ้นมาเอง และขายเอง อย่างตั้งใจ ที่สำคัญ ที่ทำให้ คนมาเที่ยวเกาะเกร็ด จดจำไดโนเสาร์ และมีกล่าวถึงกันมาก เกิดจากผู้ชายคนนี้ “นายชุมพล กลัดทอง” เจ้าของผู้ผลิตชิ้นงาน เพราะไม่ได้เพียงแค่ทำออกมาขาย แต่สามารถพรีเซน สินค้า ด้วยการแสดงชักสายบวกกับกริยาท่าทางเสียงดังฟังชัดทำให้คนผ่านไปมาต้องแวะชม หุ่นชักสายไดโนเสาร์ และยอมควักกระเป๋า ซื้อชิ้นงานหุ่นชักสายไดโนเสาร์ ราคาหลักพันบาทกันเลยที่เดียว
นายชุมพล เล่าว่า ที่มาของหุ่นชักสายไดโนเสาร์ เริ่มต้นมาจากตนเอง เป็นคนชื่นชอบการทำงานศิลปะ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนี้เสียโดยตรง อาศัยความตั้งใจฝึกฝนจนได้ ผลงานของเล่นไม้ จุดเริ่มต้นครั้งแรก ต้องการจะทำอะไรขายที่บ้านเกิด หลังจากที่เกาะเกร็ดได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และความตั้งใจ ครั้งแรก คือ ต้องการทำอะไรที่เป็นงานฝีมือที่สามารถทำเอง ขายเอง และใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และพบว่า เมื่อในอดีตกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บนเกาะเกร็ดมีพื้นที่ปลูกต้นโสนอยู่เป็นจำนวนมาก เริ่มจากการทำงานตุ๊กตาชิ้นเล็กใช้ไม้จากต้นโสน ปรากฎว่าขายดี จนต้นโสนที่ปลูกบนเกาะเกร็ด เริ่มหมดไป จึงต้องหันไปหาไม้ชนิดอื่นๆ เริ่มจากเห็นไม้ลอยน้ำมา และเก็บมาทดลองทำดู เรียกว่าไม้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยเก็บมาทำหมด ช่วงเริ่มต้นอาศัยทำงานประจำควบคู่ไปด้วย แต่พอทำไประยะเริ่มขายดี ไม่มีเวลามาทำของขาย จึงตัดสินใจลาออกมาทำตุ๊กตาไม้ไดโนเสาร์ขาย
"ทั้งนี้ ที่ผมเลือกทำไดโนเสาร์ เพราะเห็นว่า เป็นสัตว์ที่มีความน่าสนใจ ทั้งรูปร่างและขนาดที่มีส่วนเว้า ส่วนโค้ง ซึ่งเมื่อนำมาทำเป็นหุ่นเชิดชักไยมีลูกเล่นได้มากกว่า การทำสัตว์ประเภทอื่นๆ การทำงานในครั้งแรก ยอมรับว่าค่อนข้างยากสำหรับการทำไดโนเสาร์ เพราะไม่ได้แค่ทำตั้งโชว์ แต่ต้องการให้ทุกส่วนสามารถขยับได้เหมือนจริง ตัวแรกๆ ไม่ได้เหมือนมากนัก และค่อยพัฒนาทำเรื่อย ทำให้ปัจจุบันมีไดโนเสาร์ที่เหมือนจริงมากขึ้น เวลานำออกมาโชว์ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ เรียกคนดูได้อย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และเด็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่เด็กจะกลัวมากกว่า ซึ่งการโชว์ของเราในแต่ละครั้ง ถ้านักเที่ยวไม่ได้ซื้อวางเงินให้สำหรับการโชว์ด้วย"
[center]
สำหรับในส่วนของไดโนเสาร์ที่ขายออกไปตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงวันนี้ประมาณมากกว่า 1,000 ตัว ในระยะเวลาประมาณเกือบ 10 ปี แต่ส่วนของรูปแบบอื่นๆ ก็มีการทำขายเรื่อยๆ พอได้เศษไม้มา ก็มาดูว่าจะทำออกมาเป็นอะไรได้บ้าง ทำให้ชิ้นงานที่ออกมาไม่ค่อยซ้ำกัน เพราะต้องดูไม้เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ได้ไปซื้อหาไม้ แต่อาศัยขอเศษไม้จากที่ต่างๆ บางที่ลูกค้าก็นำเศษไม้มาให้บ้าง แต่ไดโนเสาร์จะทำตลอด ซึ่งการทำไดโนเสารใช้เวลาในการทำประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต่องาน 1 ชิ้น ส่วนงานที่ทำออกมามีทั้งที่ทำสี ไม่ได้ทำสี เพราะลูกค้าบางคนชอบที่จะเห็นลวดลายของไม้ มากกว่า แต่มีลูกค้าบางกลุ่มที่ชอบสีสัน ก็ให้เราทำสีให้ ขึ้นอยู่กับความชอบ ไดโนเสาร์ที่ทำออกมาแต่ละตัวแตกต่างกัน เพราะเป็นงานฝีมือ
“ปัจจุบันแม้ว่ายอดขายจะไม่ได้มากเหมือนกับการทำงานประจำ แต่สิ่งที่ได้ จะมีเวลาทำงานที่รัก และชอบได้มากขึ้น เพียงแค่รู้จักกิน รู้จักใช้ ก็สามารถมีรายได้ จากการทำอาชีพตรงนี้ได้ และที่สำคัญไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก กับการทำงานตรงนี้ แต่อาศัยต้นทุนจากฝีมือเป็นหลัก”
ที่มา : manager.co.th