[center]

นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า วางแผนนำงานวิจัยและพัฒนาเข้ามาเพิ่มผลผลิตอาหารแปรรูปส่งออก เจาะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคหลักจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและต้องการบริโภคอาหารที่มีลักษณะพิเศษเชิงสุขภาพ
ดังนั้นจึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำเอ็มโอยูสนับสนุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) หรือ RRI -Reserch and Resercher for Industry ขึ้น ตั้งเป้าหมายจะสร้างนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการแปรรูปกลุ่มปศุสัตว์ เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารปรุงสุก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเบทาโกรที่สามารถทำรายได้หมุนเวียนเกินกว่าปีละ 60,000 ล้านบาท
โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องอาหารแปรรูปมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและเอเชีย เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยด้วยกันจะต้องร่วมมือเป็นภาคีพันธมิตร ช่วยกันหาช่องทางเพิ่มการสร้างเอกลักษณ์หรือแบรนด์สินค้าไทยให้ชัดเจน ไปแข่งขันกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของประเทศอื่น ๆ เรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นั้นเอกชนทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว
อนาคตต้องเพิ่มความเข้มข้นการสร้างความรู้โดยสร้างนักวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไทย ขึ้นมาเป็นผู้คิดค้นวางรากฐานการแปรรูปอาหารครบวงจร ซึ่งคุ้มค่ากว่าพึ่งพาการสั่งนำเข้าเทคโนโลยี เพราะต่อไปต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเมื่อเห็นไทยเป็นคู่แข่งก็จะลดการขายเทคโนโลยีให้ไทยลง
นายสวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่าได้เริ่มเดินหน้าใช้งบประมาณ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ สกว.เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 เพื่อใช้ดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปี ระหว่าง 2556-2570 วงเงินรวม 49,000 ล้านบาท โดยวิธีประสานกับกลุ่มบริษัทผู้นำธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม
ขณะนี้ได้ทำเอ็มโอยูไปกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมในไทยที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ ได้แก่ เอสซีจี, ปตท., ซีเกต, เวสเทิร์น ดิจิตอล และ เครือเบทาโกร เป็นรายที่ 5 การใช้เงินพัฒนานักวิจัยอุตสาหกรรมปีแรก พ.ศ.2556 วงเงินเริ่มต้น 200 ล้านบาท เตรียมสร้างนักวิจัยระดับปริญญาโท 190 คน ปริญญาเอก 150 คน ภายในเวลา 1-2 ปีหน้าจะได้บุคลากรเข้ามาสร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูปแบบครบวงจร สร้างผลผลิตเหนือกว่าคู่แข่งทั้งตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
สำหรับโครงการพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกในไทยเพิ่มขึ้นนั้น ทั้ง สกว.และ บริษัทเอกชน มีเป้าหมายตรงกันคือจะเพิ่มวงจรการผลิต คุณภาพ ปริมาณ และ ระบบการป้องกันโรค ที่จะเกิดขึ้นในสัตว์ที่นำมาแปรรูปเป็นอาหาร เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักของไทยที่จะเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ชูครัวไทยสู่โลกนำรายได้เข้าประเทศจากนี้ไปจะต้องได้เกินปีละ 1 ล้านล้านบาท
ที่มา : matichon.co.th