รูปภาพแจ้งข่าว ทางเว็บบอร์ด openerpthailand.org ได้เปลี่ยนระบบเว็บบอร์ด ใหม่เป็น phpBB 3.1
  1. บุคคลทั่วไป จะไม่สามารถเข้าอ่านกระทู้บางบอร์ด แนะนำให้ท่าน สมัครสมาชิกคลิกตามลิงค์นี้
  2. สมาชิกใหม่ ถ้ายังไม่ได้แนะนำตัวจะไม่สามารถ ตั้งกระทู้ และ ดาวน์โหลด ไฟล์จากเว็บบอร์ดได้ ท่านจำเป็นต้องแนะนำตัวที่หมวดนี้
  3. ถ้ามีปัญหาการใช้งาน หรือ ข้อเสนอแนะใดๆ แนะนำได้ที่นี่
  4. ปุ่มรูปหัวใจใต้โพส แต่ละโพส ท่านสามารถกดเพื่อสื่อถึงคนโพสนั้นถูกใจท่าน
  5. ห้ามลง E-mail, เบอร์โทรส่วนตัว, Line id หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้างและโฆษณาแฝง โดยสามารถติดต่อสมาชิกท่านอื่นผ่านระบบ PM ของบอร์ด
  6. ท่านสามารถปิดการแจ้งนี้ได้ ที่มุมขวาของกล่องข้อความนี้

บุคคลทั่วไปสามาเข้าสู่ระบบ ด้วย Account ของ FaceBook ได้แล้ว คลิกที่นี่ได้เลย

อดีตผู้บริหาร 'ไมเนอร์ฟู้ด' เผยกุญแจแห่งความสำเร็จในการทำธุรกิจเเฟรนไชส์

รวมข่าวสารเกี่ยวกับ ธุรกิจ ความเคลื่อนไหวทางด้านธุรกิจที่สำคัญๆ แบ่งปันกันได้ที่หมวดนี้
Yamachita
โพสต์: 448
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 31 ต.ค. 2012 8:20 pm

อดีตผู้บริหาร 'ไมเนอร์ฟู้ด' เผยกุญแจแห่งความสำเร็จในการทำธุรกิจเเฟรนไชส์

โพสต์โดย Yamachita » ศุกร์ 09 พ.ย. 2012 10:35 am

แฟรนไชส์อาหารแบรนด์อินเตอร์ ผุดขึ้นในไทยเป็นดอกเห็ด แต่กับร้านอาหารไทย แค่ขยายให้ได้เกิน“30 สาขา” ก็สาหัสแล้ว ถึงเวลาถอดสลักทางรุ่งแฟรนไชส์
[center]รูปภาพ[/center]

“กุลวัฒน์ วิชัยลักษณ์” คืออดีตผู้บริหาร “ไมเนอร์ฟู้ด” ที่คร่ำหวอดอยู่ในสนามมากว่า 20 ปี เริ่มเข็น “สเวนเซ่นส์” ในไทยจากที่มีอยู่ 3 สาขา มาเป็นหลายร้อยสาขา ร่วมบุกเบิก “ซิซซ์เล่อร์” ในไทย นำ “เบอร์เกอร์คิง” มาทำเป็นคนแรก เบื้องหลังผู้ปลุกปั้น “เดอะพิซซ่าคอมปะนี” ในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ให้กับไมเนอร์

หลังเกษียณตัวเอง เขามาเป็นผู้ประกอบการ เปิด บริษัท กุลวัฒน์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท คนรัก ไอศกรีม จำกัด ขยับจาก “แฟรนไชซอร์” คนขายแฟรนไชส์ มาเป็นผู้ลงทุน (แฟรนไชซี) กับแบรนด์ที่คลุกคลีมานาน อย่าง ร้านไอศกรีม “สเวนเซ่นส์”ปัจจุบันมีอยู่ 5 สาขา ก่อนประมวลประสบการณ์ร่วมกับเหล่ากูรูในวงการ มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (Food Franchise Institute: FFI) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ

“คีย์ซัคเซสของธุรกิจแฟรนไชส์ อยู่ที่ ระบบ กับ คน”

กุลวัฒน์ สรุปการบ้านฉบับย่อ ให้กับเรา เพื่อให้เข้าถึงหัวใจการทำธุรกิจแฟรนไชส์แบบสั้นๆ

ก่อนขยายความถึงการล้มหายตายจากของแฟรนไชส์ไทย จากปัญหาหลักๆ ที่ออกจะชาชินใครหลายคนไปแล้ว

อย่าง ขาด “องค์ความรู้” “พื้นฐานธุรกิจไม่แน่น” และ “ไม่มีระบบ”

“ไม่ต้องคิดเรื่องการขยายสาขา เอาแค่ร้านที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้อยู่รอด ต้องกลับมาดูว่าพื้นฐานคุณแน่นหรือไม่ ถ้าระบบปฎิบัติการยังไม่ได้ ยังทำไม่สำเร็จ ไม่ยั่งยืน หรือมีแค่ 1-2 สาขา ก็อย่าคิดขายแฟรนไชส์ ลองดูแบรนด์ที่มาจากเมืองนอก เขาต่างถูกพิสูจน์มาแล้วทั้งนั้น ว่าซัคเซสจริง ถึงคิดทำเป็นระบบแฟรนไชส์”

“กุลวัฒน์” สะท้อนภาพความต่าง ที่ทำให้มองเห็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการไทย และจุดแข็งของแบรนด์ต่างประเทศ ที่เข้ามาสยายปีกบนแผ่นดินสยาม

แม้ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ จะชอบเข้ามาช้อปปิ้งแฟรนไชส์อาหารในไทย ถึงวันนี้ อาหารไทยก็ยังคง “ฮอต” ในสายตาชาวโลก เราเลยได้เห็นภาพธุรกิจอาหารสัญชาติไทย “โกอินเตอร์” กับเขามาบ้าง

ทว่าหลายต่อหลายรายก็ไปได้ไม่ถึงไหน !

เพราะ กับดัก-ทางตัน อย่าง ระบบไม่มี พื้นฐานไม่แน่น ไม่สนับสนุนการเติบโตในรูปแบบแฟรนไชส์

“ง่ายๆ อย่าง ฝรั่งอยากนำไข่เจียวไทยไปขาย ทำอย่างไรให้ไข่เจียว 100 จาน อร่อยเหมือนกันหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางทีธุรกิจไทยไม่คิด คิดแค่ว่าก็อยู่ที่รสมือ ซึ่งถ้าจะทำให้มีระบบ แค่รสมืออย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราไม่มีระบบ เขาอาจซื้อแบรนด์แล้วไปพัฒนาต่อ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีทั้งแบรนด์และระบบที่ดีให้กับเขา เพื่อให้รู้สึกคุ้มกับเงินที่เขาต้องจ่ายไป”

ความคุ้มค่าของเงินก้อนโต ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องทบทวนแล้วทบทวนอีก ซึ่งถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่สามารถทำให้นักลงทุนมั่นอกมั่นใจได้ ว่าจะไป “รอด” และ “รุ่ง” เขาก็คงโบกมือบ๊ายบาย ไปซบอกแบรนด์ที่พร้อมมากกว่า

นอกจากพื้นฐานของกิจการที่ต้องแน่น ความรู้ด้าน “กฎหมาย” กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ต้องตกผลึกให้ได้ อะไรเป็นข้อห้าม สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ก็ต้องศึกษาให้รู้จริง ก่อนคิดขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์

แค่ไม่รู้กฎหมายแล้วเผลอทำผิดยังพอให้อภัยได้ แต่ประเภทที่จงใจ ตั้งใจ เอารัดเอาเปรียบแฟรนไชซี สุดท้ายต้องล้มหายตายจาก หรือเป็นคดีความกันใหญ่โต ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

“ทีล้มไปเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจของแฟรนไชซอร์ ที่มองสั้นๆ แค่ว่า ตีหัวเข้าบ้าน คือ เอาไว้ก่อน ขายให้ได้ก่อน แฟรนไชซีจะเป็นจะตายก็เรื่องของคุณ ฉันขายได้ คุณจะไปทำต่ออย่างไรก็แล้วแต่คุณ ไม่มีการสนับสนุน ไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น..แบบนี้มันไม่ยั่งยืน และแฟรนไชซอร์ก็จะตายไปด้วย”

ประสบการณ์ธุรกิจที่สัมผัสมาแล้วทั้งสองมุมมอง คือเป็นทั้งคนซื้อและคนขาย เขาบอกว่า ในฐานะผู้ซื้อแฟรนไชส์ ก็ต้องเลือกดูแบรนด์ที่มีศักยภาพ น่าเชื่อถือ ประเมินดูว่าเงินที่จ่ายไป ได้อะไรกลับมาคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่แฟรนไชซีต้องการจากบริษัทแม่ ก็คือ ระบบ ประสบการณ์ องค์ความรู้ และคำตอบทุกอย่างที่เขาไม่รู้

“สิ่งที่แฟรนไชซอร์ขาย คุณขายประสบการณ์ และเป็นประสบการณ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันความสำเร็จมาแล้ว และนั่นคือความคุ้มค่าในเงินที่แฟรนไชซีต้องจ่ายออกไป”

ในขณะที่ในมุมเจ้าของแฟรนไชส์ เขาแบ่งปันประสบการณ์จาก ไมเนอร์ฟู้ด ที่มีกลยุทธ์ว่า “มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความมั่งคั่ง” โดยให้ความสำคัญกับการสอนแฟรนไชซีให้มีความมั่งคั่ง เติบใหญ่ไปพร้อมกับไมเนอร์

เรียกว่า “เขาได้ เราได้” วิน-วิน ด้วยกันทั้งคู่

“ถามผมนะ ตอนนี้ทุกคนอยากลงทุนหมด เพราะไม่อยากทำงานประจำ แต่การลงทุน โดยที่เริ่มด้วยตัวเอง มันมีปัจจัยหลายอย่าง แน่นอนสายป่านคุณยาวพอไหม เพราะธุรกิจอาหาร สายป่านต้องยาวพอสมควร ฉะนั้นการลองผิดลองถูก คือ ต้นทุนทั้งนั้น แต่การที่เราเลือกซื้อแฟรนไชส์ ทำให้ความเสี่ยงลดลง และเติบโตได้ง่ายขึ้น”

ถามถึงประสบการณ์ที่ไมเนอร์ สอนบทเรียนอะไรในการทำธุรกิจบ้าง เขาว่า

“ธุรกิจนี้มีแค่ ขาวกับดำ คือทำกับไม่ทำ ที่ล้มเหลวมามาก เพราะคุณเลือกไปอยู่ตรงที่เทาๆ คือ อะลุ่มอล่วย ซึ่งธุรกิจ Operation ในเรื่องอาหาร ไม่มีคำว่าอะลุ่มอล่วย”

กุลวัฒน์ แบ่งมุมคิดต่อไปว่า ธุรกิจต้องรู้กำลังตัวเองว่าทำได้แค่ไหน ต้องรู้จักข้อจำกัดของตัวเอง และถ้าสิ่งไหนผิด ก็ต้องรู้จักแก้ไขในความผิดนั้น

สำหรับเขา ธุรกิจ ไม่มีใครการันตีว่าจะประสบความสำเร็จได้ 100% และไม่มีโมเดลไหนที่สมบูรณ์แบบ หรือใช้ได้กับทุกโจทย์ ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และความเหมาะสม

หลายครั้งที่พิสูจน์ว่า ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยลูกจ้าง กับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความเป็นเจ้าของกิจการ ให้ผลของงานที่ต่างกัน บางครั้งการขยายสาขาเองของแบรนด์ต่างๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าขายระบบให้แฟรนไชซีทำ

“หลายที่ ซึ่งเมื่อก่อนไมเนอร์เคยเป็นเจ้าของเอง แต่พอขายออกกลายเป็นของแฟรนไชซี ทุกอย่างกลับดีขึ้น และประสบความสำเร็จมากกว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะแฟรนไชซีมีความเป็นเจ้าของ นี่คือเงินของเขา ที่หามาทั้งชีวิตและใส่ไปกับธุรกิจ เขาจึงลงมาดูแลอย่างใกล้ชิด และมีแรงผลักดันอย่างมากที่จะทำมันให้สำเร็จ”

กุลวัฒน์ บอกว่า ธุรกิจนี้สำคัญที่สุด คือ ถ้าคิดจะทำ คนทำต้อง “รักจริง” ถ้าไม่รัก ทุกอย่างก็ยากหมด เพราะธุรกิจมีปัญหา 100% โดยเฉพาะเรื่อง “คน”

“ที่พลาดและเห็นชัดเจนคือ หลายแบรนด์ ไม่สอนคน ว่าควรทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ไม่สอนให้เขาคิด แต่สอนแค่ว่า คุณต้องทำ ชี้นิ้วแล้วต้องทำ แน่นอนว่าแบบนี้ธุรกิจไม่เกิด สำหรับแฟรนไชส์หัวใจสำคัญ ก็แค่ คน กับระบบ เท่านี้จริงๆ”

สองปัจจัยสำคัญที่พวกเขาเชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารไทยหลังเปิดม่าน AEC สามารถต่อกรกับคู่แข่งต่างชาติได้ เพื่อผงาดอย่างงดงามในประเทศ และพร้อมสยายปีกไปเติบใหญ่นอกบ้านได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจอาหารไทย มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการมีกว่า 70,000 รายในประเทศ และอีกกว่า 10,000 สาขาในต่างประเทศ โดยเป้าหมายของพวกเขาคือ..

ต้องพัฒนาแบรนด์ไทยให้เป็น “Chain Restaurant” ยิ่งใหญ่แข็งแรงเช่นเดียวกับแบรนด์ต่างประเทศให้ได้

Key to success ทำธุรกิจแฟรนไชส์อาหารให้รุ่ง
๐ คนพร้อม ระบบดี พื้นฐานแน่น
๐ มีองค์ความรู้
๐ พิสูจน์ความสำเร็จ ก่อนคิดขายแฟรนไชส์
๐ รู้กฎหมาย เท่าทันกฎเกณฑ์
๐ มองระยะยาวไม่ตีหัวเข้าบ้าน
๐ รู้ข้อจำกัดตัวเอง ถ้าทำผิดก็แก้ไข
๐ ไม่มีโมเดลไหนสำเร็จ 100% ต้องปรับตามสถานการณ์
๐ ทำทุกอย่างด้วยใจรัก มีชัยไปกว่าครึ่ง

ที่มา : bangkokbiznews.com

ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 79 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน