
“AEC เป็นการรวมกันของ 10 ประเทศ ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งด้านจำนวนประชากร ตัวเลข GDP และการลงทุนในภูมิภาคนี้ แน่นอนว่าเมื่อตลาดเติบโต ถ้าเตรียมตัวมาดี มีความพร้อม เราก็ยึดหัวหาดได้ก่อนใคร”
“มนัส พิพัฒนนันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทรุ่งทรัพย์แกรนด์ทัวร์ จำกัด ตัวแทนจากธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ ที่อยู่มานานถึง 45 ปี สะท้อนโอกาสในตลาดอาเซียนของเอสเอ็มอีไทย ในงาน เสวนา "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 3)" โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ AEC Prompt ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ภารกิจหลักของพวกเขา คือ นำนักท่องเที่ยวคนไทยไปตะลอนทัวร์ต่างประเทศ บริการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ตลอดจนการศึกษาต่อต่างประเทศ เขาบอกว่า แม้ธุรกิจนี้จะยังขึ้นๆ ลงๆ ไปตามสภาวการณ์ในแต่ละปี เช่น เจอโรคซาร์ส ปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤติน้ำท่วม หรือสึนามิ ก็อาจส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่ลดลงบ้าง แต่โดยภาพรวมตลาดยังคงเติบโต จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี
"ภาพรวมยังมีเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวม AEC เป็น 10 ประเทศ ก็จะทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน" เขาแสดงความเชื่อมั่นไว้เช่นนั้น พร้อมสะท้อนภาพที่เห็นหลังเปิดประตู AEC อย่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทุกประเทศเปิดบ้านต้อนรับกันมากขึ้น การเดินทางสะดวกสบาย สามารถขยายบริการนำเที่ยวไปยังกลุ่ม AEC ทั้งเปิดเป็นเส้นทางใหม่ และเป็นลูกค้าเป้าหมายในอนาคต"
แต่จะสวยงามได้ตามฝัน ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เขาบอกว่า ต้องทำตั้งแต่พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยส่งพนักงานไปอบรมคุณสมบัติวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเปิดตลาดอาเซียน มีการฝึกฝนความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ก่อนขยายไปยังภาษาอื่นๆ ในอนาคต ตามตลาดที่สามารถเข้าไปถึง เช่น ภาษาเวียดนาม พม่า และลาว เป็นต้น
เวลาเดียวกับการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย ให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซต์ ช่องทางขายที่ไร้พรมแดน ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่เพียงได้ตลาดในอาเซียน แต่ยังรวมถึงลูกค้าทั่วโลกด้วย
นี่เป็นเพียงบางส่วนของการปรับตัว ในฐานะผู้ประกอบการที่ไม่อยากเสียโอกาสจาก AEC เช่นเดียวกับธุรกิจ ไมซ์ (MICE) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) ประชุมนานาชาติ (Convention) และแสดงนิทรรศการนานาชาติ (Exhibition) ที่ประเทศไทยยังมีดีกรีเป็นผู้นำในอาเซียน
“สุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Creative Destination Management จำกัด หนึ่งผู้เล่นในตลาดไมซ์ บอกว่า ไทยมีความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) ที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำในอาเซียน เพราะมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดี ขายง่าย ใครๆ ก็อยากขาย แต่เพราะใครๆ ก็ขายได้ ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องสร้างความได้เปรียบ ด้วยการหาภูมิต้านทานให้ตัวเองได้อยู่รอด นั่นคือ ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือ เชื่อมั่น บริการคุณภาพและไว้วางใจได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจในธุรกิจนี้
“ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการในประเทศเรา ถ้าอยากไปพม่า เวียดนาม หรือกัมพูชา เราสามารถให้บริการในประเทศเหล่านั้นได้ ซึ่งเราทำเรื่องนี้มากว่า 10 ปี แล้ว และไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเปิดบริษัทในอาเซียน แต่ใช้วิธีสร้างเครือข่าย”
เขาบอกวิธีสร้างพันธมิตรไว้ในประเทศต่างๆ ทำให้เอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องลงทุนหนักกระเป๋า ไม่ต้องเจอกับความเสี่ยงในการเข้าไปเล่นในประเทศซึ่งไม่คุ้นเคย แต่สามารถใช้ศักยภาพของคนในพื้นที่ช่วยทำตลาดให้ รวมถึงการสร้าง"เครือข่ายระดับโลก"เพื่อแชร์ฐานลูกค้าระหว่างกัน..
นี่คือสิ่งที่พวกเขาทำมานานแล้วและเชื่อว่า"พลังเน็ตเวิร์ค"จะทำให้สามารถฉกฉวยโอกาสในตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้
ด้าน “อภิชัย เจียรอดิศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทสปาโอเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หอบเอาภาพรวมของธุรกิจสปาไทย ที่ในวันนี้ สามารถประกาศตัวเป็นเมืองหลวงของสปาแห่งเอเชียได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“เออีซีไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสปาไทย เรามีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จากนั้นมาก็ก่อตัวกันเป็นสมาคม ถือว่าสปาเป็นธุรกิจที่อยู่ในสายตาทั้งภาครัฐและเอกชน มีการสนับสนุนธุรกิจสปาในหลายๆด้าน”
ธุรกิจสปามีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก แม้เป็นธุรกิจใหม่ที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี อย่างการมีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน สปาไทยกลายเป็นเมนูยอดนิยมในตลาดโลก พนักงานนวดไทยคือแรงงานเนื้อหอม ที่ทั่วโลกต่างอยากได้อยากมี ทำให้แรงงานขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา..ทว่าเมื่อโอกาสยังขนาบข้างกับบางประเด็นปัญหา คงต้องเตรียมรับมือกันหน่อยแล้ว
“แม้สปาจะยังไม่ได้เปิดเสรี เมื่อมีการเปิด AEC แต่เราก็ต้องไม่หยุดพัฒนามาตรฐานและเตรียมความพร้อม เราต้องทำมาตรฐานของเราให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และยกระดับให้สูงขึ้นไปอีก ง่ายๆ คือเราต้องการรักษาความเป็นสปาไทยไว้ให้กับคนไทย ซึ่งถ้ามาตรฐานยังต่ำ อนาคตก็จะมีการไหลเข้ามาของแรงงานจากเพื่อนบ้าน มาแย่งอาชีพเรา เมื่อถึงตอนนั้นเราอาจไม่มีเวลาทำอะไรแล้ว” เขาแสดงเจตนารมณ์ไว้เช่นนั้น
นอกจากการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ พวกเขายังมองถึงการยกระดับมาตรฐานสปาในภูมิภาคนี้ และให้เพื่อนบ้านทั้ง 9 ประเทศ ยอมรับในมาตรฐานเดียวกันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาธุรกิจสปาร่วมกัน
“อยากให้มอง AEC เป็น 3 C คือ Community ที่จะใหญ่ขึ้น ตลาดจะซับซ้อนมากขึ้น Competition การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น และตัวสุดท้าย Connectivity มีการปฏิสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกัน ธุรกิจการท่องเที่ยว สปาสามารถเข้าไปบูรณาการได้เกือบทุกธุรกิจ อย่างโรงพยาบาล ทัวร์ โรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แม้กระทั่งน้ำพุร้อนก็มีสปาอยู่ในนั้น ซึ่งสามารถส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันได้”
เขาบอกว่า อยากให้มองการรวมตัวกันของ AEC ว่าไทยจะใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับหรือตั้งรุก ถ้าตั้งรับก็คือรับมือกับการเข้ามาของธุรกิจที่มากขึ้น โดยการยกกำแพงมาตรฐานของเราให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันการไหลบ่าเข้ามาของแรงงาน ส่วนการตั้งรุก ก็คือการไปบุกเข้าทำธุรกิจในหลายๆ ประเทศที่เปิดโอกาสให้
ปิดท้ายกับ “ศรีรัตน์ นุชนิยม” รองประธานกรรมการสมาพันธ์ดิจิทัลคอนเทนท์บันเทิงไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย บอกถึงศักยภาพของธุรกิจบันเทิงไทยที่มีความพร้อมค่อนข้างสมบูรณ์ในการออกไปแข่งขันกับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ธุรกิจเพลง มีเดีย ศิลปินและนักแสดง จากการที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทย มีการพัฒนาให้เท่าทันอุตสาหกรรมโลกอยู่ตลอดเวลา ทว่าอย่างไรก็ตามยังคงต้องปรับปรุงทั้งเรื่องของภาษาเพื่อใช้ติดต่อกับต่างประเทศ และการสนับสนุนของภาครัฐโดยเฉพาะด้านเงินทุน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้
การมาถึงของ AEC เขาบอกว่า เป็นโอกาสที่ไทยจะได้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน ในเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” โดยมองไทยเป็นเหมือนหัวหอกที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อเกิดความสำเร็จร่วมกัน
"สิ่งที่จะตามมาที่ผมเป็นห่วง คือเมื่ออุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ขณะที่การสนับสนุนของภาครัฐยังเป็นปัญหาอยู่ มันจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรของเราออกไปยังประเทศอื่น เราอาจขาดแคลนบุคลากรในอนาคต
รวมถึงอยากฝากผู้ประกอบการว่า เออีซีไม่ใช่สมาคมไทย เราต้องอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวัง คือต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าคิดว่าเราเก่งกว่า เหนือกว่า แล้วไปยกตนข่มท่าน จะเป็นปัญหาในอนาคต"
อีกโอกาสทองของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการไทยใน AEC ที่ถ้าเพียงปรับตัวได้ เตรียมตัวให้พร้อม และศึกษาตลาดในทุกมิติ เราก็จะมีชัยในอาเซียน