รูปภาพแจ้งข่าว ทางเว็บบอร์ด openerpthailand.org ได้เปลี่ยนระบบเว็บบอร์ด ใหม่เป็น phpBB 3.1
  1. บุคคลทั่วไป จะไม่สามารถเข้าอ่านกระทู้บางบอร์ด แนะนำให้ท่าน สมัครสมาชิกคลิกตามลิงค์นี้
  2. สมาชิกใหม่ ถ้ายังไม่ได้แนะนำตัวจะไม่สามารถ ตั้งกระทู้ และ ดาวน์โหลด ไฟล์จากเว็บบอร์ดได้ ท่านจำเป็นต้องแนะนำตัวที่หมวดนี้
  3. ถ้ามีปัญหาการใช้งาน หรือ ข้อเสนอแนะใดๆ แนะนำได้ที่นี่
  4. ปุ่มรูปหัวใจใต้โพส แต่ละโพส ท่านสามารถกดเพื่อสื่อถึงคนโพสนั้นถูกใจท่าน
  5. ห้ามลง E-mail, เบอร์โทรส่วนตัว, Line id หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้างและโฆษณาแฝง โดยสามารถติดต่อสมาชิกท่านอื่นผ่านระบบ PM ของบอร์ด
  6. ท่านสามารถปิดการแจ้งนี้ได้ ที่มุมขวาของกล่องข้อความนี้

บุคคลทั่วไปสามาเข้าสู่ระบบ ด้วย Account ของ FaceBook ได้แล้ว คลิกที่นี่ได้เลย

ไอเดียธุรกิจ ของ บริษัท อินโนฟีน จำกัด อินโนเวชั่น เฮ้าส์ สายพันธุ์ไทย

รวมข่าวสารเกี่ยวกับ ธุรกิจ ความเคลื่อนไหวทางด้านธุรกิจที่สำคัญๆ แบ่งปันกันได้ที่หมวดนี้
Yamachita
โพสต์: 448
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 31 ต.ค. 2012 8:20 pm

ไอเดียธุรกิจ ของ บริษัท อินโนฟีน จำกัด อินโนเวชั่น เฮ้าส์ สายพันธุ์ไทย

โพสต์โดย Yamachita » เสาร์ 03 พ.ย. 2012 10:38 am

รูปภาพ

“อินโนฟีน" ผู้ให้บริการนวัตกรรมด้านหมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อใน“นวัตกรรม”และคำว่า“ไม่ต้องทำเป็นคนแรก แต่จะเป็นคนที่สองที่เร็วและดีกว่า"

สะท้อนไอเดียธุรกิจ ของ “บริษัท อินโนฟีน จำกัด” อินโนเวชั่น เฮ้าส์ สายพันธุ์ไทย ของผู้ประกอบการที่เชื่อในนวัตกรรม “คมกฤช สัจจาอนันตกุล”

กว่า 10 ปีก่อน ในฐานะหัวหอกคนสำคัญ ของ บริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ จำกัด ผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทคโนโลยี) มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดอยู่หลากหลายรายการ เช่น น้ำยาตรวจวัดเม็ดเลือดขาว CD4 ลิมโฟไซท์ เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาผู้ป่วยในราคาประหยัด ชุดตรวจคัดกรองพาหะโรคธารัสซีเมีย ชนิดแอลฟ่า ที่สามารถตรวจได้รวดเร็วใน 15 นาที และหน้ากากอนามัย ชนิดซักได้และใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น

ในวันนี้เขาผุดธุรกิจใหม่ “อินโนฟีน” ที่มาพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรม “หมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์” ฝีมือของนักวิจัยเนคเทค

“ผมทำธุรกิจมากว่าสิบปี มีแต่คนมาถามว่าจะสร้างนวัตกรรมอย่างไร จึงเกิดความคิดที่จะเป็น อินโนเวชั่น เฮ้าส์ รับหน้าที่จัดหารูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้กับธุรกิจที่สนใจ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เขาไปทำต่อ เนื่องจากเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง ไม่เก่งการตลาด ไม่ได้อยู่ในธุรกิจการผลิต แต่มีเทคโนโลยี เลยส่งต่อให้ผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเขา”

“คมกฤช” บอกเล่าธุรกิจใหม่ ในเวทีเสวนา “คิดให้ต่างและตีให้แตก สร้างธุรกิจนวัตกรรม” จัดโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ธุรกิจที่เริ่มต้นด้วย “ความคิดต่าง” มี “ไอเดีย” เป็นจุดสตาร์ท ..ไอเดียที่ไม่ใช่แค่ “ดีไซน์” แต่คือ “ความคิดที่แตกต่าง” ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ “ถ้าเขาลอกได้อย่าไปทำเลยธุรกิจนั้น แต่ต้องเป็นไอเดียที่ต่อให้เขาลอก ก็ทำไม่ได้เหมือนคุณ” นั่นคือเหตุผลที่เขาเลือกช้อปปิ้งนวัตกรรม จากงานวิจัยที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา ใช้จุดแข็งอย่างการคุยกับนักวิจัยรู้เรื่อง สนทนากับนักลงทุนเข้าใจ และรู้ความต้องการของลูกค้า มาเป็นเข็มทิศเดินเกมธุรกิจ

ที่มาของ “หมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งนำพลังงานไฟฟ้าได้ ฉีกภาพงานพิมพ์แบบช้ำๆ เดิมๆ มาสร้างทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าให้กับงานพิมพ์ ด้วยลูกเล่นชนิดจัดเต็มทั้ง แสง สี เสียง ไม่ว่าจะ สื่อโฆษณา แพคเก็จจิ้ง ป้ายไฟ ใช้ในวงการแพทย์ เสริมประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ในการนำไฟฟ้า พัฒนาเป็นหลอดไฟรุ่นใหม่ ที่มีความบาง ไม่เปราะหรือแตกง่าย หรือจะทำเป็นของแต่งบ้านเก๋ๆ

..สารพัดไอเดียที่แตกแขนงไปได้ไม่รู้จบจาก “นวัตกรรม” ในมือของเขา “ผมชำนาญในการมองเทคโนโลยี มองงานวิจัย แล้วประยุกต์ได้ว่า ตัวไหนสามารถทำเป็นธุรกิจได้”

คมกฤช เปิดความคิดใครหลายคน ที่จินตนาการไม่ออกว่า “ธุรกิจนวัตกรรม” ต้องเริ่มกันแบบไหน ถ้าไม่มีความรู้เรื่องวิจัย ไม่เข้าใจเทคโนโลยีเลย แล้วเราจะแสวงหานวัตกรรมดีๆ มาได้อย่างไร อดีตสถาปนิกที่สนใจธุรกิจนวัตกรรม บอกเราว่า การเข้าหางานวิจัย สามารถทำได้ทั้งแบบ มีโจทย์หรือไอเดีย จากธุรกิจ แล้วไปหานักวิจัยมาทำให้ แต่ความยากคือ การหาคนที่จะมาวิจัยให้เราได้ กับแบบที่สอง คือ ไปช้อปปิ้งงานวิจัย ตามงาน หรือตามสถาบันการศึกษา แล้วลองใช้จินตนาการของตัวเอง ว่าจะจับคู่กับธุรกิจที่เรามีได้อย่างไร..สำหรับเขาแบบหลังง่ายกว่าแบบแรก

“วิธีที่ผมเลือก คือ สปอร์ทไลท์ตัวเองขึ้นมา อย่างตอนเปิด ไอเมด ลาบอราทอรี่ ผมบอกว่าเราจะทำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งในตอนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างเด่น นักวิจัยก็อยากเข้ามาหาผม รวมถึงนักลงทุนด้วย” คิดอะไรที่ง่ายๆ และหา “คีย์เวิร์ด” ที่จูงใจนักลงทุน อย่าง “ไบโอเทคโนโลยี” ในยุคที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับมัน หรือ เริ่มต้นอินโนฟีน ด้วย “กราฟีน” ซึ่งมีรางวัลโนเบลการันตี เหล่านี้หาได้จากการเปิดหูเปิดตา สร้างเครือข่าย หาคอนเน็คชั่น มีพันธมิตรไม่ทำงานคนเดียว และทำตัวให้เข้าไปอยู่ใน “โอกาส” เช่น ร่วมงานสัมมนา ทิ้งนามบัตรไว้ นำตัวเองไปอยู่ในฐานข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เหล่านี้ เป็นต้น

“ผมทำอินโนฟีนโดยไม่ลงเงินแม้แต่บาทเดียว แต่ลงแรง ลงสมอง ซึ่งนักลงทุนหลายท่านเห็นคุณค่าในสมองของผม และให้การสนับสนุน ฉะนั้นเงินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีคนที่เขาต้องการลงทุนอยู่เยอะ ขอแค่คุณมีไอเดียที่ดี และเปิดให้เขารู้ เขาเห็นคุณค่า แล้วเงินจะเข้ามาหาเอง สำหรับผมยุคนี้ เงินไม่ใช่เป็นพระเจ้า แต่ ไอเดีย คือ พระเจ้า”

ยุคแห่งไอเดีย ของธุรกิจนวัตกรรม ที่เขาบอกว่า นอกจากคู่แข่งน้อย ยังมีกำไรสูงกว่าสินค้าทั่วไป เรียกว่าถ้าไม่มีมาร์จิ้น 65% ขึ้นไป อย่าไปทำเลย เปลืองสมอง ปล่อยให้รายได้น้อยๆ ไปเกิดกับธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่ใช่นวัตกรรม เช่นเดียวกับอินโนฟีนที่เขาบอกว่ายังต้องการเงินทุนอีกประมาณ 50 ล้านบาท หรือเพียง 1-2 ล้านดอลลาร์ แต่คาดการณ์รายได้ใน 3-4 ปี ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท!! เขาประกาศความมั่นใจหลังจากสินค้าผ่านกระบวนการทดสอบ และส่งไปทดสอบในหลายประเทศ อย่าง เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฟินแลนด์ ซึ่งลูกค้าก็พอใจกับคุณภาพที่ได้ ฉะนั้นตลาดพร้อม แค่มีเงินลงทุนก็เดินหน้าเก็บเกี่ยวดอกผลได้

การทำสินค้านวัตกรรมให้รอบรับตลาดโลกไม่ใช่แค่คน 60 ล้านคนในประเทศ และไม่ใช่ทำเพื่อทดแทนการนำเข้า คือแนวคิดของคมกฤช เขาบอกว่า การที่ธุรกิจจะเติบโตต่อไปในอนาคตต้องมีตลาดที่ใหญ่ระดับโลก และธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องทำงานคนเดียว แต่สามารถหา “พาร์ทเนอร์ชิป” มาเป็นจิ๊กซอร์เติมเต็มส่วนที่ตัวเองอ่อนด้อยได้

“ในส่วนของการตลาด ผมไม่ทำหรอก เพราะขายของไม่เป็น ขายไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว แต่ผมเก่งอะไร ผมเก่งสร้างสรรค์ ผมก็ทำนวัตกรรมให้ แล้วหาคนมาลงทุนในตัวนี้ แล้วกระจายออกไป” เท่านี้ก็ปิดจุดอ่อนของตัวเองได้

ส่วนใครที่กลัวว่าตลาดใหญ่ขึ้น สินค้าจะตกเป็นเป้าการลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ สำหรับคมกฤช เขาบอกว่า การป้องกันไม่ได้อยู่ที่การจดสิทธิบัตร (Patent) แต่ธุรกิจจะอยู่ต่อไปได้ และมีอนาคต ต้องมีความลับทางการค้า (trade secret) ผู้ประกอบการจึงต้องหา trade secret ของตัวเองให้ได้

คิดจะทำของใหม่ แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด แต่คมกฤชก็มีวิธีคิดในแบบของเขา คือ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นคนแรก เพราะกว่าจะผ่านโจทย์หินอย่างต้องใช้ความพยามอย่างหนัก เงินลงทุนแบบจัดเต็ม กว่าจะสร้างตลาดให้รับรู้และยอมรับในสินค้าได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นปล่อยเป็นงานหนักของเบอร์หนึ่งไป แต่ขอแค่เป็นรายที่สองที่เร็วที่สุด และทำได้ดีกว่าเดิมเท่านี้ก็เพิ่มแต้มต่อในสนามได้แล้ว

"อย่าไปคิดว่า เราต้องทำอะไรเป็นคนแรก เพราะคนแรกนี่ เจ๊งกันทุกคน แต่ให้เป็น Fast Second คือ ทำของที่ในโลกมีอยู่แล้วนี่แหล่ะ แต่ทำเป็นคนที่สองที่ดีกว่าและเร็วที่สุด อย่างหมึกนำไฟฟ้า มีอยู่แล้วในโลก แต่เราผสมกราฟีนเข้าไปเพื่อทำให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า เท่านี้ก็เข้าสู่ตลาดได้ สำหรับผมทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เป็นคนแรกเสมอไป”

หนึ่งมุมคิดของคนทำธุรกิจนวัตกรรม ที่ตลอดเส้นทางอาจไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่กล้าล้มเหลว กล้าผิดพลาด เพื่อสั่งสมเป็นประสบการณ์ และผลักดันให้นวัตกรรมเกิดได้จริง จนมาสู่โอกาสธุรกิจใหม่ในวันนี้..


ที่มา : bangkokbiznews.com

ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 25 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน