
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลต่อการปฏิรูปสาขาบริการในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเปิดเสรีภาคบริการตาม “พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC Blueprint ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้โอกาสที่จะมีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558และในระยะสั้น เป็นไปได้น้อยมาก
งานวิจัย “AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ” โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ คุณวีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารีและคณะ วิเคราะห์ว่า กรอบการเจรจา AEC เป็นเพียง Roadmap มิได้เป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย เป้าหมายการเปิดเสรียังมิได้เป็นการเปิดเสรีแบบ EU เพราะยังมีการยกเว้นในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานและกฎกติกาภายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ ได้แก่ ข้อผูกพันการเปิดตลาดค้าบริการชุดที่ 7 มุ่งเน้นแต่การเปิดเสรีในสาขาเร่งรัดเป็นหลัก และประเทศไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้แค่ไม่เกิน 49% ในทุกสาขาบริการเท่านั้น
มายาคติ - “ในปี 2558 ผู้ประกอบการอาเซียนจะสามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรีกับผู้ประกอบการไทยในทุกสาขาบริการ”
ข้อเท็จจริง
• กรอบการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC มิได้เป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย หากแต่เป็นเพียง “Roadmap” เพื่อให้การเจรจาในการเปิดเสรีภาคบริการในอาเซียนมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนต่างจากการเจรจาในอดีต
• การเปิดเสรีภายใต้ AEC Roadmap มิใช่การเปิดเสรีที่สมบูรณ์แบบเหมือนสหภาพยุโรป (EU)
• ในบรรดาชาติอาเซียนทั้งหมด มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการได้ ส่วนข้อเสนอของไทยสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การสร้างฐานการผลิตอาเซียนร่วมกัน
• ความเป็นไปได้ที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเปิดเสรีภาคบริการได้ตาม Roadmap ในปี พ.ศ. 2558 จึงมีน้อยมาก
สาขาบริการที่ไทยได้ให้ข้อผูกพันที่จะให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ตามเป้าหมายของ AEC Blueprint มีเพียงไม่กี่สาขาย่อย (โทรคมนาคม โลจิสติกส์ สุขภาพและท่องเที่ยว) และสาขาย่อยที่ผูกพันส่วนมากไม่มีนัยสำคัญเชิงเศรษฐกิจของประเทศมากนัก
ทั้งนี้ ข้อผูกพันชุดที่ 8 ยังขาดการปรับปรุงกฎกติกาภายในประเทศไทยให้เอื้อต่อการเปิดเสรีอย่างเป็นธรรม
จากการศึกษา พบว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน AEC และสะท้อนเจตนารมณ์ที่จะไม่เปิดเสรีภาคบริการอย่างแท้จริง
สาขาบริการ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2553 พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2558
สาขาเร่งรัด (สุขภาพ ท่องเที่ยว ขนส่งทางอากาศ และ E-ASEAN) 51% 70% 70% 70%
โลจิสติกส์ 49% 51% 70% 70%
บริการอื่น ๆ 49% 51% 70% 70%
โอกาสของ AEC
• ขนาด - ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีประชากรทั้งหมดกว่า 608 ล้านคนและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีมูลค่าจีดีพีรวมกว่า 3,334 พันล้านเหรียญสหรัฐ
• แหล่งเงินทุน - ในปี 2554 ร้อยละ 7.54 ของเงินลงทุนทางตรง (FDI) ของโลกมุ่งสู่อาเซียน เทียบกับ ร้อยละ 2.03 ในปี 2545 แต่การกระจายตัวของเงินทุนกระจุกอยู่ที่สิงคโปร์ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เพียง 9.08% แต่มีส่วนแบ่งเงินทุนถึง 42.80%
• สิงคโปร์จึงเปรียบเหมือน “ประตูสู่อาเซียน” - เนื่องจากเป็นประเทศที่บริษัทข้ามชาติเลือกที่จะเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเพื่อที่จะบริหารจัดการการลงทุนในภูมิภาค
• โอกาสของไทย - ภาคบริการของไทยปิดกั้นเงินลงทุนจากต่างประเทศเนื่องจากนโยบายและกฎหมายที่จำกัด ทำให้ไทยเสียโอกาสในการได้รับการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคบริการ ทั้งที่ไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมถึง 19.4% แต่ได้รับส่วนแบ่ง FDI เพียง 13.83% เท่านั้น
• การขาดแคลนเงินลงทุน ทำให้ภาคบริการของไทยขาดเงินลงทุนที่จำเป็นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อที่จะตักตวงผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าบริการในอาเซียน
ไทยจะยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างไร?
1) เปิดรับทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
• เปิดเสรีภาคบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจอื่น (intermediate services) - การคุ้มครองภาคบริการภายในประเทศโดยกีดกันการแข่งขันจากต่างประเทศ เป็นการสร้างภาระต้นทุนให้แก่ธุรกิจอื่น ๆ อย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ตัวอย่างเช่นการขนส่งสินค้าทางบก สถาบันการเงิน การประกันภัย ที่ผลิตบริการที่มีลักษณะเป็นบริการขั้นกลางที่ป้อนให้แก่ภาคธุรกิจอื่น
• เปิดเสรีภาคบริการที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด - โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดไม่กี่ราย เช่นโทรคมนาคม โครงข่ายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อก๊าซ ซึ่งการกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศทำให้เกิดความเสี่ยงของการผูกขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินควร
2) ปฎิรูปกฎและกติกาในการกำกับดูแล
โทรคมนาคม
• ยกเลิกประกาศเกี่ยวการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวที่กีดกันต่างชาติ
• มีกติกาให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อย สามารถเชื่อมต่อหรือเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมได้อย่างเป็นธรรม
พลังงาน
• มีกติกาให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเช่าใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายท่อก๊าซของ ปตท. และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ที่เป็นธรรม
การเงิน
• ยกเลิกการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมสำหรับบริการที่มีการแข่งขัน
• กำกับดูแลระบบการชำระเงินที่ผูกขาด
• ยกเลิกข้อจำกัดสาขาบริการของธนาคารต่างชาติ
ที่มา : dailynews.co.th