
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากปลายปี 2554 โรงงานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางต้องประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ช่วงต้นปี 2555 โรงงานเหล่านั้นต้องสั่งนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เกิดการชำรุดและเสียหายจำนวนไม่น้อย อีกทั้งภาครัฐยังให้การสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการลงทุนลงทุนใหม่ จากปัจจัยบวกดังกล่าวทำให้ธุรกิจผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักรได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
นายสัญชัย นันทกิจโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค เอ็นซี จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ของธุรกิจการนำเข้าเครื่องจักรในปี 2555 ว่า ตลาดดังกล่าวมีการขยายตัวในระดับที่ดีมาก หากเทียบกับปี 2554 เนื่องจากโรงงานจำนวนมากมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ โดยเฉพาะโรงงานในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม
โดยกลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัทที่ตั้งโรงงานอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครได้รับความเสียหายมากเช่นกัน ซึ่งบริษัทได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแลซ่อมแซมให้ในส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ แต่ในส่วนที่ได้รับความเสียหายจนต้องสั่งเครื่องจักรใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยส่งมอบ คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะส่งมอบได้เกือบหมด เพราะโรงงานที่ญี่ปุ่นและไต้หวันเองก็ผลิตเครื่องจักรใหม่ไม่ทันเช่นกัน ทำให้ระยะเวลาการส่งมอบนานขึ้นจาก 3 เดือน เป็น 5 เดือน
[center]

สำหรับเครื่องจักรที่บริษัทเป็นผู้นำเข้านั้น ล้วนเป็นเครื่องจักรต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์มีสัดส่วนมากที่สุด เพราะเครื่องจักรสามารถทำต้นแบบแม่พิมพ์ได้หลายชิ้นส่วนตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ไปถึงบานประตู
"ในระยะ 10 ปี ที่เริ่มต้นทำธุรกิจมาจนถึงวันนี้เรามีลูกค้าเป็นพันราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น ฮอนด้า โตโยต้า ไทยซัมมิท เป็นต้น นอกจากเครื่องจักรแล้ว บริษัทยังขายอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องจักรเสริมด้วย ทำให้ธุรกิจดำเนินมาได้อย่างดี เพราะเราให้ความสำคัญในการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้มากกว่าจะหาลูกค้าใหม่ เนื่องจากธุรกิจนี้มีการแข่งขันกันสูง มีผู้ประกอบการมากกว่า 500 ราย เป็นบริษัทของคนไทยประมาณ 63% นอกนั้นที่เหลือเป็นบริษัทลูกหรือร่วมทุนกับทางประเทศผู้ผลิต ทำให้มูลค่าของตลาดเครื่องจักรแต่ปีมากกว่า 4-5 แสนล้านบาท" นายสัญชัยกล่าว
กรรมการผู้จัดการบริษัท เทค เอ็นซี กล่าวต่อว่า การให้บริการของบริษัทนอกจากการติดตั้ง อบรมการใช้งานเครื่องจักรแล้ว ยังมีทีมงานให้บริการ หรือดูแลบำรุงรักษาเครื่องหลังการขายด้วย โดยเครื่องจักรจะมีการประกันการใช้งาน 1 ปี และเครื่องของไต้หวันจะใช้งานได้ 5 ปี ส่วนของญี่ปุ่นใช้งานได้นานถึง 10 ปีเลยทีเดียว แต่สินค้าของญี่ปุ่นก็จะมีราคาแพงกว่าของไต้หวัน อย่างเช่นเครื่องจักรขนาดเล็กของไต้หวันราคา 2 ล้านบาท ขณะที่ของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ราคา 6 ล้านบาท ส่วนที่เคยนำเข้ามาราคาแพงสุดอยู่ที่ 16 ล้านบาท ล่าสุดราคาขยับขึ้นประมาณ 5-10% ตามต้นทุนวัตถุดิบ
อย่างไรก็ตาม มองว่าปีนี้เครื่องจักรที่ขายดีนั้น เป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหาย เช่น ตลาดรถยนต์ในปีนี้ที่เติบโตอย่างมาก จนทำการผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่ายไม่ทัน มีสาเหตุมาจากคำสั่งซื้อเดิมจากปลายปีที่ผ่านมานำมายกยอดรวมคำสั่งซื้อในปีนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังการผลิตในกลุ่มยานยนต์ก็น่าจะเต็มกำลังการผลิตแล้ว จึงมองว่าปีหน้าจะมีการขยายการลงทุนและการผลิตมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ตามไปด้วย รวมถึงในปี 2558 รัฐบาลประกาศจะสนับสนุนการผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคัน หลังจากมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เต็มรูปแบบ และเครื่องจักรก็จะมีอัตราภาษีเป็น 0% ขณะที่ตอนนี้ยังมีอัตราภาษี 3% อยู่บ้าง
อีกทั้งมองว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ก็น่าจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันในปีหน้าด้วยการลงทุนขยายบริษัทและโชว์รูมใหม่ ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมกว่า 50 ล้านบาท เพื่อวางเครื่องจักรที่นำเข้ามาสาธิตให้ผู้ประกอบการดูและยังเป็นศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ และอบรมการใช้งานด้วย
"บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยวิศวกรที่ชำนาญงาน ล่าสุดได้ดึงช่างเทคนิคชาวญี่ปุ่นเข้ามาช่วยงาน และอยู่ระหว่างหาพันธมิตรทางธุรกิจจากญี่ปุ่นด้วย เพื่อจะได้แข่งขันกับรายอื่นๆ ได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งยังเตรียมพร้อมจะไปตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายชาติเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่าน่าจะส่งผลให้โรงงานต่างๆ ย้ายฐานตามมาด้วย อีกทั้งประเทศเวียดนามที่เป็นฐานการผลิตแข่งกับไทย" นายสัญชัยระบุ
นายสัญชัยกล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีนี้ว่า เชื่อมั่นว่าจะปิดยอดขายได้ที่ 300 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 220 ล้านบาท แม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะสะดุดไปบ้าง ส่วนปีหน้าบริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 ล้านบาท โดยมองว่ากว่าจะมีการนำเข้าเครื่อจักรใหม่อาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการสั่งสินค้าต้องสั่งล่วงหน้าประมาณ 8 เดือน โดยในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งให้เป็น 1% ของตลาดรวม หรือคิดเป็นรายได้ 500 ล้านบาท ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว
ที่มา : komchadluek.net