[center]

ในทูนกรุ๊ปนอกจาก แอร์เอเชีย แล้วยังประกอบด้วยธุรกิจอื่นๆ อีกหลากหลาย ทั้งธุรกิจการเงินในชื่อ ทูนมันนี่ ธุรกิจโทรคมนาคมในชื่อ ทูนทอล์ค เครือโรงแรมในชื่อ ทูนโฮเต็ล กีฬาฟอร์มูล่าวันในชื่อ คาร์เตอร์แฮม
ล่าสุดกับการขยายสู่ธุรกิจ "ยานยนต์" เป็นครั้งแรกด้วยการรุกผลิตสปอร์ตคาร์ โดยวางเส้นทางการเติบโตด้วยการจับแนวความถนัดเดิมด้าน "แมสโปรดักต์" ที่มีจุดเด่นเรื่อง "กลยุทธ์ราคา" มาตีตลาดรถหรู ด้วยการนำเสนอราคาถูกกว่าเจ้าใหญ่ในตลาดเดิมอย่าง เฟอร์รารี โลตัส และ ปอร์เช่ “โทนี่ เฟอร์นันเดส” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทูนกรุ๊ป บอกเช่นนั้น
ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว แน่นอนว่าจะมีฐานที่มั่นเดิมใน "เอเชีย" เป็นตลาดสำคัญ
เฟอร์นันเดส เล่าว่า ธุรกิจดังกล่าว เกิดจากการร่วมทุนระหว่างคาร์เตอร์แฮม กับเรโนลต์กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% เพื่อก่อตั้งบริษัทลูกในชื่อ “โซสิเอเต้ เดอ ออโต้โมบิล อัลพีน คาร์เตอร์แฮม” เพื่อฟื้นการผลิตรถยนต์ “สปอร์ตคาร์” รุ่นอัลพีน (Alpine) ซึ่งเป็นโมเดลสปอร์ตคาร์ในยุค 70 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพาหนะที่มีศักยภาพสูง คล่องแคล่วว่องไว น้ำหนักเบา ซึ่งมียอดขายกว่า 30,000 คันในช่วงหลายทศวรรษ
หลังจากก่อนหน้านี้ เฟอร์นันเดส ยอมรับว่าได้พูดคุยกับแบรนด์สปอร์ตคาร์อย่าง “โลตัส” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
“ตัวเลขการลงทุนในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่คาดว่าจะไม่สูงมาก เพราะมีโรงงานฐานผลิตเดิมอยู่แล้วที่เมืองนอร์มังดี ทางเหนือของฝรั่งเศส คาดว่าจะสามารถเริ่มทำตลาดได้ในปี 2558 โดยระหว่างนี้จะเป็นการพัฒนาโมเดล รุ่นต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก”
บนความคาดหวังว่าจะอาศัยจุดแข็งของแต่ละฝ่าย ในการ "ปั้นแบรนด์" สปอร์ตคาร์ภายใต้ชื่อ “คาร์เตอร์แฮม” ขึ้นเพื่อทำตลาดทั่วโลก
โดยเรโนลต์จะสนับสนุนด้านโนว์ฮาวทางการผลิต ส่วนคาร์เตอร์แฮมจะเน้นจุดเด่นด้านการออกแบบ นวัตกรรม และการตลาด โดยทั้งคู่จะร่วมกันพัฒนาด้านวิศวกรรมยานยนต์และเทคโนโลยี "ต่อยอด" มาจากทีมรถแข่งฟอร์มูล่าวันเดิมที่มีอยู่
แน่นอนว่ายังคงเอกลักษณ์ความเป็นอัลพีนดั้งเดิมไว้
สำหรับการเลือกให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียนั้น เขาบอกว่า เนื่องจากตลาดเอเชียมีอัตราเติบโตสูง จีดีพีต่อหัวขยับเพิ่มต่อเนื่อง มีกำลังซื้อที่ดี และยังมีช่องว่างทางการตลาดสำหรับตลาดสปอร์ตคาร์ในเอเชีย นอกจากนี้ ยังเล็งเป้าหมายไปที่อังกฤษด้วย เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านตลาดจากการเข้าไปทำทีมฟอร์มูล่าวันคาร์เตอร์แฮม ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในอังกฤษอยู่แล้ว
แต่การจะเปิดตัวด้วย "ราคาถูกกว่า"คู่แข่งเท่าไหร่นั้น ต้องพิจารณาต้นทุนอีกครั้ง
"หลักการง่ายๆ ของคาร์เตอร์แฮมรวมถึงทูนกรุ๊ปคือ ทำสินค้าที่มองว่าเข้าถึงอยากให้เข้าถึงง่ายขึ้น โดยอาศัยปริมาณในการควบคุมต้นทุน ในธุรกิจสปอร์ตคาร์นี้อาจไม่ถึงขั้นแมส แต่ก็ขยายกลุ่มเป้าหมายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือที่เรียกว่า Accessible Fun เช่นเดียวกับแอร์เอเชีย ที่เดิมผู้บริโภคมองว่าเป็นสินค้าที่เข้าถึงยาก ราคาแพง ประกอบกับครั้งแรกของการเปิดตัวสายการบินเมื่อปี 2554 เกิดวิกฤตโรคซาร์ส ไข้หวัดนก แต่เราได้ปลดแอกความคิดนั้นจนประสำเร็จความสำเร็จจวบจนทุกวันนี้" เฟอร์นันเดสกล่าว
ในธุรกิจสปอร์ตคาร์ แม้วันนี้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่เชื่อว่าหากรู้จักตลาด รู้จักผู้บริโภค รู้จักสินค้า ธุรกิจย่อมดำเนินไปได้ สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และด้วยข้อได้เปรียบของกลุ่มทูนกรุ๊ปที่มีเครือข่ายการตลาดที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั้งเอเชีย ทำให้ยิ่งมั่นใจในฐานข้อมูลด้านตลาด ตลอดจนระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ
เฟอร์นันเดส กล่าวอีกว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะ "ภาษี" ที่จะปรับลดลง ทำให้ฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซียและไทยได้รับผลดี โดยเฉพาะอนาคตการพัฒนาซิตี้คาร์ในตลาดเอเชีย จากศักยภาพของเรโนลต์ที่มีความสัมพันธ์อันดี เป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยาวนานกับ “นิสสัน มอเตอร์"
"นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการรุกสู่ธุรกิจใหม่อย่างยานยนต์ ยังมีความท้าทายรออยู่มากในอนาคต"
..นี่ถือเป็นการสานต่อความฝันของผมให้เป็นจริง เจ้าพ่อสายการบินโลว์คอสต์ทิ้งท้าย
ที่มา : bangkokbiznews.com