รูปภาพแจ้งข่าว ทางเว็บบอร์ด openerpthailand.org ได้เปลี่ยนระบบเว็บบอร์ด ใหม่เป็น phpBB 3.1
  1. บุคคลทั่วไป จะไม่สามารถเข้าอ่านกระทู้บางบอร์ด แนะนำให้ท่าน สมัครสมาชิกคลิกตามลิงค์นี้
  2. สมาชิกใหม่ ถ้ายังไม่ได้แนะนำตัวจะไม่สามารถ ตั้งกระทู้ และ ดาวน์โหลด ไฟล์จากเว็บบอร์ดได้ ท่านจำเป็นต้องแนะนำตัวที่หมวดนี้
  3. ถ้ามีปัญหาการใช้งาน หรือ ข้อเสนอแนะใดๆ แนะนำได้ที่นี่
  4. ปุ่มรูปหัวใจใต้โพส แต่ละโพส ท่านสามารถกดเพื่อสื่อถึงคนโพสนั้นถูกใจท่าน
  5. ห้ามลง E-mail, เบอร์โทรส่วนตัว, Line id หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้างและโฆษณาแฝง โดยสามารถติดต่อสมาชิกท่านอื่นผ่านระบบ PM ของบอร์ด
  6. ท่านสามารถปิดการแจ้งนี้ได้ ที่มุมขวาของกล่องข้อความนี้

บุคคลทั่วไปสามาเข้าสู่ระบบ ด้วย Account ของ FaceBook ได้แล้ว คลิกที่นี่ได้เลย

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ SMEs

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ การเงิน การบัญชี งานการผลิด โรงงาน ระบบคลังสินค้า กฏหมาย
Yamachita
โพสต์: 448
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 31 ต.ค. 2012 8:20 pm

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ SMEs

โพสต์โดย Yamachita » พุธ 09 ม.ค. 2013 11:22 am

การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

มาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน 16 มาตรการ ดังนี้
1) มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ ประกอบด้วย
1.1) มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตแรงงาน
- กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ผ่าน 5 ธนาคาร โดยขยายระยะเวลาการยื่นกู้ตามโครงการฯ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2556 ปรับหลักเกณฑ์วงเงินกู้สำหรับสถานประกอบการ ดังนี้ ลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ลูกจ้าง 51 – 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 4 ล้านบาท ลูกจ้างเกินกว่า 200 คนขึ้นไปวงเงินกู้ไม่เกิน 8 ล้านบาท และประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสำหรับ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์
1.2) มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาโครงการ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (วงเงินเดิม 20,000 ล้านบาท)
1.3) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ ในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (ปี 2556 – 2558) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี
1.4) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New / Start-up) กระทรวงการคลังพิจารณาขยายโครงการถึงปี 2558 สำหรับเกณฑ์ระยะเวลาการดำเนินงานของผู้ประกอบการใหม่ให้ปรับจากไม่เกิน 2 ปีเป็นไม่เกิน 3 ปี

2) มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ ประกอบด้วย
2.1) มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี 2556 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 1 คงเหลือฝ่ายละร้อยละ 4
2.2) มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ในปี 2556 กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20
- กระทรวงการคลังพิจารณาการปรับช่วงกำไรสุทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามความเหมาะสม
2.3) มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี
ในปี 2556 กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง
2.4) มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษี กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2.5) มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556
2.6) มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ร้อยละ 100 ในปีแรกออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556
2.7) มาตรการการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแก่ผู้ประกอบการ SMEs สำหรับค่าจ้างทำของและค่าบริการ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ในวันที่ 8 มกราคม 2556
2.8) มาตรการการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรม/ที่พักแรม กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีลงร้อยละ 50 จากที่เก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีห้องพักที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2556 จำนวน 354,165 ห้อง การลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีดังกล่าว จะทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้แผ่นดินลงปีละ 14,166,600 บาท

3) มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ ประกอบด้วย
3.1) มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในปี 2556 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ขยายเวลาในการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเป็นร้อยละ 0.1
3.2) มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการจัดทำหลักสูตรตามความต้องการและเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการ SMEs โดยใช้ฐานข้อมูล SMEs ของสำนักงานประกันสังคม

4) มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แก่
4.1) มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

5) มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค ได้แก่
5.1) มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโครงการสินค้าธงฟ้าและร้านค้าถูกใจให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร จำนวน 3 ฉบับ เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การหักค่าเสื่อมเครื่องจักร และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 จากสิ้นสุดที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556
2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จำนวน 1 ฉบับ เพื่อลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
3. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ เพื่อปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
4. เห็นชอบในหลักการการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักและค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน
5. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และงบประมาณสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5
6. เห็นชอบการขยายระยะเวลา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของ ธพว. และโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)

สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังได้พิจารณามาตรการการคลังและการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไทย ดังนี้

1. มาตรการการคลัง
1) มาตรการภาษี
(1) ให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเดิมเพื่อบรรเทาผลกระทบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไปอีก 1 ปี จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ดังนี้
(1.1) การหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำเดิมและค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ได้ 1.5 เท่า ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 553) พ.ศ. 2555
(1.2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้จากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 551) พ.ศ. 2555
(1.3) ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรกแทนการทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 552) พ.ศ. 2555
(2) ปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน โดยปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาที่ปรับลดลง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
2) มาตรการรายจ่าย
กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารและค่าเช่าที่พักในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน

2. มาตรการการเงิน
(1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5
กระทรวงการคลังได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 สำหรับปี 2556 ซึ่งต่อเนื่องจากระยะที่ 4 เนื่องจากปัจจุบันเต็มวงเงินแล้วเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยมีสาระสำคัญของโครงการ สรุปได้ ดังนี้
(1.1) วัตถุประสงค์

เพื่อช่วยเหลื่อ SMEs ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกันให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และเป็นการเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการค้ำประกันในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
(1.2) คุณสมบัติของ SMEs ผู้เข้าร่วมโครงการ
1) เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2) มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
3) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
4) ได้รับสินเชื่อใหม่และจะต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้
(1.3) เงื่อนไขการค้ำประกัน
1) วงเงินค้ำประกันรวม 3 ปี จำนวน 240,000 ล้านบาท
2) วงเงินค้ำประกันต่อรายต่อสถาบันการเงิน สูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบัน
3) ระยะเวลาโครงการในแต่ละ Portfolio มีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
4) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุค้ำประกัน 7 ปี
5) ระยะเวลารับคำขอการค้ำประกันจาก บสย. ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนสิ้นสุดรับคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยในแต่ละปีถือเป็น 1 Portfolio (รวมเป็น 3 Portfolio)
(1.4) เงื่อนไขการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน
บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชยสะสมให้กับสถาบันการเงินสูงสุดในกรณี Portfolio ปกติ ไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี ส่วนกรณี Portfolio แบบไม่มีหลักประกันและ NPL บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยสะสมให้กับสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 14 ของภาระค้ำประกัน
(1.5) งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน
รัฐบาลชดเชยความเสียหายการดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 5 ให้กับ บสย. คิดเป็นวงเงินไม่เกิน 13,800 ล้านบาท (โดยคำนวณจาก 18% - ( 1.75% * 7 ปี) เท่ากับ 5.75 % คูณวงเงิน 240,000 ล้านบาท ) ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 มาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผ่านกลไกค้ำประกันของ บสย. ภายใต้มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 23,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีวงเงินงบประมาณคงเหลือจำนวน 16,100 ล้านบาท โดยในรายละเอียดให้ตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan)
ธนาคารพัฒนาวิสหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ประกอบด้วย (1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือ SMEs ขนาดย่อมในภาคการผลิตที่มีโรงงานที่ประกอบกิจการถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในการซื้อและการปรับปรุงเครื่องจักรและ (2) สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อช่วยเหลือ SMEs ขนาดย่อมในทุกภาคธุรกิจในการนำไปลงทุน ขยาย ปรับปรุง หรือพัฒนากิจการด้านต่าง ๆ ในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท โดยขอขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม สิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อภายใน 2 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ คือวันที่ 24 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ ให้ ธพว. พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ สำหรับเงื่อนไขอื่น ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555

(3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 และวันที่ 4 กันยายน 2555 เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่เริ่มประกอบธุรกิจใหม่ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากระบบสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งมีวงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
3.1) ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกัน ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
3.2) ปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารราชการเป็น SMEs ที่ประกอบกิจการ ที่มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ
3.3) เปลี่ยนแปลงการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่รัฐบาลเป็นผู้รับภาระแทน SMEs ในปีแรก จากอัตราร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50 เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ ให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณเดิมที่เคยได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555


ที่มา : isranews.org

ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 10 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน