รูปภาพแจ้งข่าว ทางเว็บบอร์ด openerpthailand.org ได้เปลี่ยนระบบเว็บบอร์ด ใหม่เป็น phpBB 3.1
  1. บุคคลทั่วไป จะไม่สามารถเข้าอ่านกระทู้บางบอร์ด แนะนำให้ท่าน สมัครสมาชิกคลิกตามลิงค์นี้
  2. สมาชิกใหม่ ถ้ายังไม่ได้แนะนำตัวจะไม่สามารถ ตั้งกระทู้ และ ดาวน์โหลด ไฟล์จากเว็บบอร์ดได้ ท่านจำเป็นต้องแนะนำตัวที่หมวดนี้
  3. ถ้ามีปัญหาการใช้งาน หรือ ข้อเสนอแนะใดๆ แนะนำได้ที่นี่
  4. ปุ่มรูปหัวใจใต้โพส แต่ละโพส ท่านสามารถกดเพื่อสื่อถึงคนโพสนั้นถูกใจท่าน
  5. ห้ามลง E-mail, เบอร์โทรส่วนตัว, Line id หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้างและโฆษณาแฝง โดยสามารถติดต่อสมาชิกท่านอื่นผ่านระบบ PM ของบอร์ด
  6. ท่านสามารถปิดการแจ้งนี้ได้ ที่มุมขวาของกล่องข้อความนี้

บุคคลทั่วไปสามาเข้าสู่ระบบ ด้วย Account ของ FaceBook ได้แล้ว คลิกที่นี่ได้เลย

หลักเกณฑ์และความแตกต่างระหว่างใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ การเงิน การบัญชี งานการผลิด โรงงาน ระบบคลังสินค้า กฏหมาย
openerp_docman
โพสต์: 393
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 06 ต.ค. 2012 10:11 am

หลักเกณฑ์และความแตกต่างระหว่างใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้

โพสต์โดย openerp_docman » อังคาร 10 มิ.ย. 2014 10:39 am

หลักเกณฑ์และความแตกต่างระหว่างใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้

ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) หรือใบลดหนี้ (Credit Note) เป็นเอกสารที่ต้องจัดทำในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการจัดทำใบกำกับภาษีซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการนั้นครบถ้วนแล้ว แต่มีความผิดพลาดในปริมาณและมูลค่าของสินค้า
ที่ขายหรือบริการที่ให้ จึงต้องออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะมีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้หรือ ใบลดหนี้ได้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ประมวล-รัษฎากรกำหนดไว้ให้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ได้เท่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจทั้งใน ด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน จึงขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ และความแตกต่างของทั้ง 2 กรณี ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกมีการ นำเสนอดังนี้

1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากร
2. องค์ประกอบการออกใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากร
3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับใบลดหนี้ตามประมวลรัษฎากร
4. องค์ประกอบการออกใบลดหนี้ตามประมวลรัษฎากร
5. กำหนดเวลาในการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้
6. การออกใบแทนใบเพิ่มหนี้หรือใบแทน ใบลดหนี้
7. การออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้กรณีเลิกกิจการหรือถูกเพิกถอนทะเบียน
8. การนำใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ไปลงในรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย
9. ภาษีตามใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้มีผลต่อการคำนวณภาษีอย่างใด
10. ความรับผิดชอบของผู้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

สาระสำคัญเบื้องต้นของใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้
1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับ ใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากร1

1.1 หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากร

(1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ และ

(2) นำภาษีขายไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 แล้ว

1.2 เงื่อนไขเกี่ยวกับใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากร

(1) มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขาย เนื่องจาก

ก. สินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน หรือ

ข. คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือ

ค. เหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

(2) มีการเพิ่มราคาค่าบริการ เนื่องจาก

ก. ให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน หรือ

ข. คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือ

ค. เหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

(3) เป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน

1.3 ผลตามกฎหมาย

(1) ด้านผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือบริการ

ก. นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นนั้นมารวมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข. ถือเป็นภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบเพิ่มหนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา86/9

(2) ด้านผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าหรือบริการ

ก. นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวมาหักออกในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

openerp_docman
โพสต์: 393
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 06 ต.ค. 2012 10:11 am

Re: หลักเกณฑ์และความแตกต่างระหว่างใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้

โพสต์โดย openerp_docman » อังคาร 10 มิ.ย. 2014 10:40 am

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 80/2542

เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร



---------------------------------------------



เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา86/10 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้



ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

(3) ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(ก) มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ข) มีการเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด



ข้อ 2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

(3) ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(ก) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงหรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ข) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ค) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ง) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

(จ) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้าเงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

(ฉ) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

(ช) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

(ซ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่องหรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

(ฌ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา



ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1(3) หรือข้อ 2(3) เกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1(3) หรือข้อ 2(3) เกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า "ใบเพิ่มหนี้" หรือ "ใบลดหนี้" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้

(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของ�เล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้นในกรณีของใบเพิ่มหนี้ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้นในกรณีของใบลดหนี้

(6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้

รายการตามวรรคสองจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

มูลค่าของสินค้าหรือบริการตามวรรคสอง (5) หมายความถึงมูลค่ารวมทั้งหมดตามใบกำกับภาษีที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มหนี้หรือลดหนี้ มูลค่ารวมทั้งหมดที่ถูกต้อง มูลค่ารวมทั้งหมดของส่วนต่าง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มหรือใช้คืนสำหรับส่วนต่าง

สาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามวรรคสอง (6) ให้แสดงเฉพาะสาเหตุและรายการสินค้าหรือบริการที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น



ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และข้อ 2 สามารถออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ หรือใบลดหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้ และรายการตามข้อ 3(5) หรือ (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารแนบใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้อ้างถึงใบกำกับภาษีเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้



ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยถือเป็นภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบเพิ่มหนี้ และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยนำไปหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบลดหนี้

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้จากผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง โดยได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยถือเป็นภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบเพิ่มหนี้ หรือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยนำไปหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้



ข้อ 6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้วแต่กรณี ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามข้อ 3 มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้จากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร



ข้อ 7 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก



สั่ง ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542



ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th/publish/3574.0.html


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 99 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน